วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

การพัฒนาหลักสูตรการศึกษา

การพัฒนาหลักสูตร

หลักสูตร ถือเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและสังคมได้ การจัดการศึกษาที่ดีจึงควรมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชีวิตและสังคมของผู้เรียน หลักสูตรจึงจำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนาให้มีความเหมาะสม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ

ความหมายของการพัฒนาหลักสูตร
          การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกประเภท เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามความมุ่งหมายและจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ และเป็นการวางแผนการประเมินผลให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียน ว่าได้บรรลุตามความมุ่งหมายและจุดประสงค์จริงหรือไม่ เพื่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้รู้และคิดเพื่อแก้ไขปรับปรุงต่อไป ดังนั้น หลักสูตรที่ดีและเหมาะสมจะต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครองของประเทศตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ
            ในอดีตนักพัฒนาหลักสูตรจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมาย เนื้อหาและวิธีการสอนของหลักสูตรโดยไม่ค่อยสนใจหรือคำนึงผู้เรียนว่าจะมีความรู้สึกหรือมีผลกระทบอย่างไร ปกตินักพัฒนาหลักการสูตรจะกำหนดจะกำหนดจุดมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนเป็นสำคัญ และเนื้อหาสาระตลอดทั้งกระบวนการเรียนการสอนก็จะต้องเป็นเรื่องของครูที่จะต้องคิดมาหา ครูมักจะหาเนื้อเรื่องและวิธีการเรียนการสอนโดยคำนึงว่าผู้เรียนคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร และมีความต้องการอย่างไร แต่ในปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เปลี่ยนไป จึงเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรที่จะต้องหาแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้มีความถูกต้อง ชัดเจนและเป็นประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด ทั้งนี้ได้มีผู้กล่าวถึงความหมายของการพัฒนาหลักสูตร

            สันต์ ธรรมบำรุง (2527 : 92) ได้กล่าวถึงความหมายของการพัฒนาหลักสูตรไว้ว่าการพัฒนาหลักสูตร (curriculum development) จะมีความหมายครอบคลุมถึงการสร้างหลักสูตรการวางแผนหลักสูตรการปรับปรุงหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตรให้ดีขึ้นทั้งระบบ ตั้งแต่จุดมุ่งหมาย การเรียนการสอน การใช้สื่อการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
            บุญมี เณรยอด (2531 : 18) กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การปรับปรุงโครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลาย เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ดีขึ้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมและเพื่อบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้
            สงัด อุทรานันท์ (2532 : 30) กล่าวคำว่า การพัฒนา หรือ คำในภาษาอังกฤษว่า “development” มีความหมายที่เด่นชัดอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก หมายถึง การทำให้ดีขึ้น หรือ ทำให้สมบูรณ์ขึ้น และอีกลักษณะหนึ่ง หมายถึง ทำให้เกิดขึ้น โดยเหตุนี้ ความหมายของการพัฒนาหลักสูตรจึงอาจมีความหมายได้ 2 ลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ความหมายแรก หมายถึง การทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นหรือสมบูรณ์ขึ้น และอีกความหมายหนึ่งก็ คือ เป็นการสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมเป็นพื้นฐานอยู่เลย

            ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2537 : 25) ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาหลักสูตร อย่างเป็นระบบซึ่งมีขึ้นตอนสำคัญสรุปได้ดังนี้
            ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เพื่อวินิจฉัยปัญหาและความต้องการ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจ
            ขั้นที่ 2 การกำหนดเป้าประสงค์ จุดหมายและจุดประสงค์ หลังจากได้วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานแล้ว จะพิจารณาและกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา
            ขั้นที่ 3 การเลือกและการจัดเนื้อหา จะต้องมีความถูกต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ในหลักสูตร มีความสอดคล้องกับความต้องการ ความสนใจของผู้เรียน มีความยากง่ายสอดคล้องเหมาะสมกับวัย เนื้อหาต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และเนื้อหานั้นเป็นสิ่งที่สามารถจัดให้ผู้เรียนได้ ในแง่ของความพร้อมด้านเวลา ผู้สอน และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ
            ขั้นที่ 4 การเลือกและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว รวมไปถึงยุทธวิธีการสอน การเลือกใช้สื่อการสอนให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ และการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ และกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
ขั้นที่ 5 การกำหนดอัตราเวลาเรียน หลักเกณฑ์ในการวัดประเมินผลการเรียน กำหนดเวลาเรียนการสอน โดยจัดเนื้อหาวิชาตามลำดับก่อนหลังให้สัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์ส่วนการวัดผลประเมินผล ควรกำหนดวิธีการเกณฑ์การจบหลักสูตร
ขั้นที่ 6 การนำหลักสูตรไปใช้ หลังจากล่างหลักสูตรแล้วต้องมีการตรวจสอบข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
ขั้นที่ 7 การประเมินผลหลักสูตร เมื่อใช้หลักสูตรไปได้สักระยะหนึ่ง ควรมีการประเมินผลหลักสูตรในด้านต่างๆว่ามีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรบ้าง
ขั้นที่ 8 การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร หลังจากที่ทราบข้อบกพร่องของหลักสูตร อาจจะต้องมีการศึกษาปัญหาเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องให้หลักสูตรเหมาะสมยิ่งขึ้น
หัทยา เจียมศักดิ์ (2539 : 12) ให้ความหมายว่า การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาหรือคิดประสบการณ์เรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมหรือดียิ่งขึ้น
สวัสดิ์ จงกล (2539 : 19) ได้ให้ความหมายว่าการพัฒนาหลักสูตร คือ การเกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาหรือคิดประสบการณ์เรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมหรือดียิ่งขึ้น

จากการที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การปรับ แต่ง เสริม เติมต่อ หรือการดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและสนองต่อความต้องการของผู้เรียน

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
การพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคนส่วนมากจึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบด้วยการศึกษาข้อมูล และความจำเป็นพื้นฐานของการพัฒนาหลักสูตรในหลาย ๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียน(หมายถึง สภาพของบ้าน ครอบครัวชุมชน) เกี่ยวข้องกับสังคมและเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ข้อมูลและความจำเป็นเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร การเลือกเนื้อหาวิชา และประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรพื้นฐาน

กาญจนา คุณารักษ์ (2527 : 82) ได้แยกรายละเอียดไว้ 6 ประการ คือ 1) การเปลี่ยนแปลง
ของสังคม 2) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ 3) การเมืองและการปกครอง 4) แนวความคิดและผลการศึกษาค้นคว้าทางด้านจิตวิทยา 5) ความก้าวหน้าทางวิทยาการเทคโนโลยีและ 6) บาบาทของสถานบันศึกษาและสื่อมวลชน นอกจากนี้ มิเชลลิส กรอสแมน และสก๊อต (Michealis, Grossman and Scott. 1975 : 175) ยังได้เสนอแนวคิดหลักสำคัญ 5 ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรดังต่อไปนี้ 1) พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการศึกษาปัญหาข้อถกเถียงและการปฏิบัติตลอดจนความสำเร็จและความล้มเหลวของหลักสูตรเดิม 2)พื้นฐานทางด้านปรัชญาซึ่งจะช่วยในการพัฒนาเค้าโครงของค่านิยมและความเชื่อที่สัมพันธ์กับการกำหนดความมุ่งหมาย การเลือกและการใช้ความรู้ ความหมายและวิธีการดำเนินการและมิติอื่น ๆ ของการศึกษา 3) พื้นฐานทางสังคมซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลค่านิยม การเปลี่ยนแปลง ปัญหา ความกดดันและแรงขับทางสังคมที่จะนำมาพิจารณาในการวางแผนหลักสูตร 4)พื้นฐานจิตวิทยา ซึ่งประกอบด้วยความคิดเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กตลอดจนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ 5) พื้นฐานเกี่ยวกับสาขาวิชา ซึ่งจะเปรียบเสมือนแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับมโนมติ ข้อมูลต่าง ๆ แบบอย่างวิธีการและกระบวนการค้นคว้าอื่น ๆ ที่อาจจะใช้ในการพัฒนาหลักสูตรและการวางแผนการเรียนการสอน ซึ่ง บิชอบ (Bishop . 1985 : 88) มีความเห็นสอดคล้องกันว่าพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 ด้าน แต่บิชอบไม่ได้เรียกว่าเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร เขาใช้คำว่า ตัวกำหนดหลักซึ่งจัดเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย 1) ปรัชญา ซึ่งหมายรวมถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษา ความนึกคิดทางลัทธิต่าง ๆ และอื่น ๆ 2) การเงินรวมถึงทรัพยากรบุคคลและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ 3) สังคมและวัฒนธรรมซึ่งรวมถึงภาษาด้วย 4) ความรู้ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาวิชา มโนทัศน์ และกระบวนการทางสมอง และ 5) จิตวิทยาซึ่งประกอบด้วย ทฤษฎีการเรียนรู้วิธีสอนและอื่น ๆ ดังแผนภาพต่อไปนี้

        จากแนวคิดด้านพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร พอสรุปได้ว่า พื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรนั้น ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1) พื้นฐานทางด้านปรัชญา  2) พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา  3) พื้นฐานทางด้านประวัติศาสตร์  4) พื้นฐานทางด้านสังคมวิทยาซึ่งรวมถึงด้านด้านวัฒนธรรมและภาษา การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ  5) พื้นฐานทางด้านสาขาวิชาที่ต้องการจะพัฒนาหลักสูตรและ  6) ความก้าวหน้าวิทยาการ เทคโนโลยี บทบาทของสถาบันการศึกษาและสื่อมวลชน ซึ่งจัดเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องและทันสมัยตอบรับต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรอบรู้ สามารถเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและสอดคล้องตอบรับต่อความต้องการของสังคมในปัจจุบัน

ระดับการพัฒนาหลักสูตร
          การพัฒนาหลักสูตรมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับชั้นเรียน ซึ่งมีนักศึกษาหลายคนได้กล่าวถึงระดับการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
            สุมิตร คุณานุกร (2532 : 11) ได้กล่าว การพัฒนาหลักสูตรมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่เฉพาะในระดับกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่เรียกกันว่าระดับชาติเท่านั้น แต่กระจายต่อไปในระดับต่าง ๆ ได้ถึง 4 ระดับ ดังนี้
            1. การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ ควรพัฒนาหลักสูตรให้มีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการนำไปขยายหรือปรับให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้ในระดับต่าง ๆ ที่รองลงไปนำไปขยายและปรับให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นโรงเรียนและชั้นเรียนต่อไป
             2. การพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น คำว่าท้องถิ่นในระดับนี้ หมายถึง เขตการศึกษา(เขตพื้นที่การศึกษา : ผู้เรียน) ซึ่งจะทำการขยายหรือปรับหลักสูตรระดับชาติให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคม ภูมิศาสตร์และความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา
            3. การพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยทางโรงเรียนทำหน้าที่ขยายและปรับประมวลการสอน จากการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นอีกครั้ง เพื่อให้ละเอียดยิ่งขึ้นจนกระทั่งสามารถแยกแยะรายละเอียดของเนื้อหาวิชาที่จะสอนออกมาเป็นเวลาได้
            4. การพัฒนาหลักสูตรในระดับชั้นเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการตอบสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียน โดยการปรับความมุ่งหมายในการสอน เนื้อหากิจกรรมการเรียนรู้และการสอนให้สอคล้องกับสติปัญญาและความสนใจของผู้เรียน

            วิชัย วงษ์ใหญ่ (2537 : 67) ได้แบ่งระดับการพัฒนาหลักสูตรของไทยเป็น 3 ระดับ คือ
                 1. การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นการพัฒนาหลักสูตรที่มีหลักการจะต้องกระทำในระดับกว้างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
                 2. การพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น ท้องถิ่นในที่นี้ หมายถึง ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับ กลุ่มโรงเรียน เป็นการนำหลักสูตรระดับชาติมาปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่นนั้น
                 3. การพัฒนาหลักสูตรระดับห้องเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยครูผู้สอน
            มณฑิชา ชนะสิทธิ์ (2539 : 19) ได้กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรแบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ
                 4. การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นการจัดทำหลักสูตรแบ่งบทในลักษณะกว้าง ๆ เพื่อให้หน่วยงานระดับล่างนำไปปรับใช้ได้
                5. การพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น เป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยเขตการศึกษา นำหลักสูตรระดับชาติมาปรับ หรือขยายให้มีความสอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นในเขตการศึกษานั้น
                6. การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยการนำหลักสูตรระดับชาติระดับท้องถิ่นมาปรับหรือขยายให้มีความสอดคล้องกับสภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน
                7. การพัฒนาหลักสูตรระดับห้องเรียน เป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยการนำหลักสูตรระดับโรงเรียนมาปรับหรือขยายให้มีความละเอียด เหมาะสมกับหลักสูตรท้องถิ่น
            นีล (Neil. 1981 : 55-58) เห็นว่าการนำหลักสูตรไปใช้เป็นการแปลงหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอน โดยมุ่งให้ผู้ปฏิบัติดำเนินการได้ถูกต้องเกิดผลตรงความมุ่งหมายของหลักสูตร กระบวนการแปลงหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติหรือการจัดการเรียนการสอน แบ่งได้ 5 ระดับ ในแต่ละระดับอาจเกิดความผิดพลาดได้ดังนี้
            1. หลักสูตรระดับอุดมการณ์ (ideal curriculum) เป็นแนวความคิดของผู้ร่างหลักสูตรที่ต้องการบอกลักษณะของผู้เรียนที่ต้องการ หลักการและแนวคิดพื้นฐานของหลักสูตร สำหรับเป็นกรอบท่จะถ่ายทอดไปสู่หลักสูตรที่จะจัดทำ
            2. หลักสูตรระดับทางการ (formalcurriculum) เป็นหลักสูตรที่เขียนเป็นเอกสารโดยการนำแนวคิดของหลักสูตรระดับอุดมการณ์มาสังเคราะห์ให้เป็นแนวปฏิบัติ ความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้นก็คืออาจสะท้อนแนวคิดในอุดมการณ์ได้ไม่หมด
            3. หลักสูตรระดับการรับรู้ (perceived curriculum) เป็นหลักสูตรตามความเข้าใจของผู้ใช้แต่ละคนหลังจากได้รับรู้หลักสูตรระดับทางการ ความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดก็คือ ผู้ใช้อาจเข้าใจหลักสูตรไม่ตรงกับเอกสารหลักสูตร หรือแต่ละคนเข้าใจหลักสูตรไม่ตรงกัน เพราะแต่ละคนจะเข้าใจหลักสูตรตามการรับรู้และพื้นฐานความรู้ของตนเอง
            4. หลักสูตรระดับปฏิบัติการ (Operational curriculum) เป็นการนำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนซึ่งครูแต่ละคนมีความเข้าใจหลักสูตรอย่างใดก็จะนำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนตามสถานการณ์จริงความคลาดเคลื่อนจะเกิดจาการที่สถานการณ์จริงแตกต่างจากที่คาดหวัง และสถานการณ์ของแต่ละแห่งแตกต่างกัน
            5. หลักสูตรระดับประสบการณ์ (experiential curriculum)  เป็นระดับของหลักสูตรท่จะเกิดกับตัวผู้เรียน ความผิดพลาดที่จะเกิด คือ การเรียนที่ไม่ตรงตามความมุ่งหมาย ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แตกต่าง ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้เรียนมีความสามารถในการรับรู้และประสบการณ์ต่างกัน
            โซเวลล์ (Sowell. 1996 : 6) ได้แบ่งหลักสูตรออกเป็น 4 ระดับ คือ
            1. หลักสูตรระดับสังคม (The society curriculum) เป็นหลักสูตรที่อยู่ไกลตัวผู้เรียน และถูกสร้างโดยรัฐ นักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ผู้บริหารระดับต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา
            2. หลักสูตรระดับสถาบัน (The institutional curriculum) เป็นหลักสูตรที่ใช้ในสถานศึกษาและได้รับมาจากหลักสูตรสูตรระดับสังคม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมโดยนักการศึกษาและคณะทำงานในระดับท้องถิ่น
            3. หลักสูตรระดับการเรียนการสอน (The instructional curriculum) เป็นหลักสูตรที่วางแผนโดยครูและถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
            4. หลักระดับประสบการณ์ (The experience curriculum) เป็นหลักสูตรที่ยอมรับและถูกจัดขึ้นโดยตัวผู้เรียนเอง ทั้งนี้เพราะว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้น หลักสูตรจึงต้องสอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคน

            จากที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะกว้าง ๆ โดยยึดถือแผนการศึกษาของชาติ เพื่อให้ผู้ใช้ในระดับต่าง ๆนำไปขยายหรือปรับเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร สำหรับการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น หมายถึง เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน เป็นผู้นำมาตรฐานของหลักสูตรระดับชาติมาจัดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น ทั้งนี้หลักสูตรท้องถิ่นในระดับชั้นเรียน จะเป็นการจัดสาระการเรียนรู้ของท้องถิ่นที่เน้นความต้องการ ความถนัด ความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก
แนวคิดการพัฒนาหลักสูตร
            จากการที่เน้นศึกษาหลายท่านได้อธิบายความหมายของการพัฒนาหลักสูตร (Curriculum development) ไว้คล้ายคลึงกัน ซึ่งสรุปได้ว่า การพัฒนาหลักสูตรมีความหมาย 2 ลักษณะ คือ ประเภทแรก เป็นการทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และประการที่สองเป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน รวมไปถึงการผลิตเอกสารต่าง ๆ สำหรับผู้เรียนด้วย (Saylor and Alexander. 1974 : 7 ; Sowell. 1996 : 16 ; อ้างใน สงัด อุทรานันท์. 2532 : 31)
            การพัฒนาหลักสูตร มีความหมายที่กว้างขวางครอบคลุมงานหลายมิติของการพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่ การวางแผนหลักสูตร จัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร (Curriculum planning) การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ (Curriculum implementation) และการประเมินหลักสูตร (Curriculum evaluation) การสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละมิติมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด การวางแผนจัดทำหรือยกร่างหลักสูตร ประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน การกำหนดจุดมุ่งหมาย การกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์การเรียนรู้การกำหนดการวัดประเมินผล
            การนำหลักสูตรไปใช้ ประกอบด้วยการจัดวัสดุหลักสูตรต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้หลักสูตรสามารถใช้หลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตและการใช้สื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ การเตรียมบุคลากร การบริหารหลักสูตรและการดำเนินการสอนหลักสูตร
            การประเมินหลักสูตร ประกอบด้วย การประเมินเอกสารหลักสูตร การประเมินการใช้หลักสูตร การประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร และการประเมินหลักสูตรทั้งระบบ
            ไทเลอร์ (Tyler. 1949 : 99) ได้ให้แนวคิดในการวางโครงร่างหลักสูตร โดยใช้วิธี Means-Ends Approach เป็นหลักการและเหตุผลในการสร้างหลักสูตรที่เรียนว่า หลักการของไทเลอร์” (Tyler’s rationale) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการจัดหลักสูตรและการสอนที่เน้นการตอบคำถามที่เป็นพื้นฐาน 4 ประการ
1.มีจุดมุ่งหมายทางการศึกษาอะไรบ้าง ที่สถาบันการศึกษาจะต้องกำหนดให้ผู้เรียน
2.มีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้าง ที่สถาบันการศึกษาควรจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
3.จะจัดประการณ์ทางการศึกษาอย่างไร จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ
4. จะประเมินผลประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการศึกษาอย่างไร จึงจะตัดสินได้ว่าบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
            ไทเลอร์ เน้นว่าคำถามทั้ง 4 ข้อนี้ต้องเรียงลำดับกันลงมา เพราะฉะนั้นการกำหนดจุดมุ่งหมายจึงเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด เพราะคำตอบอีก 3 ข้อที่เหลืออยู่นั้นขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ (ชมพันธ์ กุญชร ณ อยุธยา. 2540 : 8)
            แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ เป็นไปตามลำดับขั้น โดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งกำเนิดที่จะเป็นพื้นฐานในการตัดใจ  3 แหล่งด้วยกัน คือ
            1. ศึกษาจากสังคม
            2. ศึกษาจากผู้เรียน
            3. ข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชา
ทาบา (Taba. 1962 : 12) ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า “Grass roots approach” หรือวิธีการจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน ซึ่งทาบาเชื่อว่าผู้ที่มีหน้าที่สอนในหลักสูตรควรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรด้วย วิธีการพัฒนาหลักสูตรของทาบานี้มีขั้นตอนคล้ายคลึงกับไทเลอร์แต่ต่างกันตรงที่วิธีการที่  ไทเลอร์เสนอนั้นค่อนข้างเป็นวิธีการแบบ “Top-down” คือ การพัฒนาหลักสูตรที่มาจากข้อเสนอแนะของนักวิชาการ ให้ครูปฏิบัติและผู้บริหารสั่งการมายังครูผู้สอนอีกทีหนึ่ง สำหรับขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรของทาบา มีดังนี้
            ขั้นที่  1 การสำรวจความต้องการ (diagnosis of needs) ครูหรือผู้ร่างหลักสูตรเริ่มกระบวนการ ด้วยการสำรวจความต้องการของนักเรียนที่หลักสูตรได้วางแผนไว้
            ขั้นที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมาย (formulation of objectives) หลังจากที่ครูได้ระบุความต้องการของนักเรียนแล้ว ครูกำหนดจุดมุ่งหมายที่จะให้บรรลุผล
            ขั้นที่ 3 การเลือกเนื้อหา (Selection of contents) จุดมุ่งหมายที่เลือกไว้หรือที่สร้างขึ้นเป็นตัวชี้แนะแนวทางในการเลือกรายวิชาหรือเนื้อหาของหลักสูตร ซึ่งควรเลือกเนื้อหาที่มีความเที่ยงตรงและสำคัญด้วย
            ขั้นที่ 4 การจัดเนื้อหา (Organization of contents) เมื่อครูเลือกเนื้อหาได้แล้ว ต้องจัดเนื้อหาโดยเรียงลำดับขั้นตอนให้ถูกต้อง คำนึงถึงวุฒิภาวะของนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสนใจของผู้เรียนด้วย
            ขั้นที่ 5 การเลือกประสบการณ์การเรียน (Selection of learning experiences) เมื่อได้เนื้อหาแล้วครูคัดเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
            ขั้นที่ 6 การจัดประสบการณ์เรียน (organization of learning experiences) กิจกรรมการเรียนการสอนควรได้รับการจัดเรียงลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกับเนื้อหา แต่ครูต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนด้วย
            ขั้นที่ 7 การประเมินผลและวิธีการประเมินผล (evaluation and means of evaluation) ผู้ที่วางแผนหลักสูตรต้องประเมินว่าจุดมุ่งหมายใดบรรลุผลสำเร็จและทั้งครูและนักเรียนควรร่วมกันกำหนดวิธีการประเมินผล
            เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส(Saylor, Alexander and Lewis. 1981 : 28-39) ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งเขามีแนวคิดว่าหลักสูตรเป็นแผนการในการจัดโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้น หลักสูตรจึงต้องมีการกำหนดไว้อย่างเป็นระบบ ดังนี้
            1. เป้าหมาย จุดมุ่งหมายและขอบเขต (Goals, objectives and domains) การพัฒนาหลักสูตรควรกำหนดเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายหลักสูตรเป็นสิ่งแรก เป้าหมายแต่ละประเด็น จะบ่งบอกถึงขอบเขตหนึ่ง ๆ ของหลักสูตร ซึ่งเซเลอร์ อเล็กซานเดอร์และเลวิสได้เสนอไว้ว่ามี 4 ขอบเขตที่สำคัญ คือ พัฒนาการส่วนบุคคล (personal development) สมรรถภาพทางสังคม (Social competence) ทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (continued learning skills) และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) นอกจากนี้ยังมีขอบเขตอื่นๆ อีก ซึ่งนักพัฒนาหลักสูตรอาจจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้เรียนและลักษณะทางสังคม เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และขอบเขตต่าง ๆ ของหลักสูตรจะได้รับข้อบังคับทางกฎหมายของรัฐ ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ ปรัชญาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตร เป็นต้น
            2. การออกแบบหลักสูตร (Curriculum design) เมื่อกำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้ว นักพัฒนาหลักสูตรต้องวางแผนออกแบบหลักสูตร ตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกและจัดเนื้อหาสาระ การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่ได้เลือกแล้ว
            3. การใช้หลักสูตร (Curriculum implemmentation) หลังจากตัดสินใจเลือกรูปแบบหลักสูตรแล้วขั้นตอนต่อไป คือการนำหลักสูตรไปใช้ โดยครูผู้สอนต้องวางแผนและจัดทำแผนการสอนตามรูปแบบ         ต่าง ๆครูผู้สอนเลือกวิธีการสอน สื่อ วัสดุการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้
            4. การประเมินหลักสูตร (Curriculum evaluation) การประเมินหลักสูตร เป็นขั้นตอนสุดท้ายของรูปแบบนี้ นักพัฒนาหลักสูตรและครูผู้สอนต้องเลือกวิธีการประเมินเพื่อตรวจสอบความสำเร็จของหลักสูตร ซึ่งเป็นทั้งการประเมินระหว่างดำเนินการ (formative evaluation) และการประเมินผลรวม (Summary evaluation) ทั้งนี้ เพื่อนำผลการประเมิน ไปปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรต่อไป
            โอลิวา (Oliva. 1992 : 171-175) ได้แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร โดยขยายความคิดของตนเอง จากที่ได้เสนอรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรไว้เมื่อปี ค.ศ. 1976 ไว้แล้ว กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ     โอลิวา ได้เสนอองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
            1. กำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษา ปรัชญาและหลักจิตวิทยาการศึกษา ซึ่งเป้าหมายนี้เป็นความเชื่อที่ได้มาจากต้องการของสังคมและผู้เรียน
            2. วิเคราะห์ความต้องการของชุมชน ผู้เรียน และเนื้อหาวิชา
            3. กำหนดจุดหมายของหลักสูตร
            4. กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
            5. จัดโครงสร้างของหลักสูตรและนำหลักสูตรไปใช้
            6. กำหนดจุดหมายของการเรียนการสอน
            7. กำหนดจุดประสงค์การเรียนการสอน
            8. เลือกยุทธวิธีการจัดการเรียนการสอน
            9. เลือกวิธีการประเมินผลก่อนเรียนและหลังเรียน
10. นำยุทธวิธีการจัดการเรียนการสอนไปใช้           
11. ประเมินผลการจัดการเรียนการสอนไปใช้
12. ประเมินผลหลักสูตร
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า แนวคิดของนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรนั้นเห็นว่าเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ เป็นวงจร เชื่อมโยง

   รูปแบบการพัฒนาหลักสูตร
          รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรเป็นการกำหนดลักษณะ ระเบียบ วิธีการที่จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นโดยมีนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวถึงรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรได้ดังนี้
            ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539 : 7) ได้อธิบายว่า การพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วยสามมิติ(dimensions) คือ มิติที่หนึ่ง การวางแผนจัดทำหรือยกร่างหลักสูตร (curriculum planning) มิติที่สองการใช้หลักสูตร (curriculum implementation) และมิติสุดท้ายการประเมินผลหลักสูตร (curriculum evaluation) การพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าแต่ละมิติมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังมีผู้รู้หรือนักการศึกษาหลาย ๆ ท่านได้กล่าวถึงรูปแบบของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ต่างกัน
            นิคม ชมพูหลง (2545 : 53) ได้สรุปแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นไว้ 6 ขั้นตอนดังนี้
            1. การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้นทรัพยากรมนุษย์ สภาพความต้องการของท้องถิ่น สภาพจัดการศึกษา และสภาพความต้องการของนักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชน
            2. การสร้างหลักสูตรฉบับร่าง ได้แก่ คำชี้แจง เหตุผลความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรหลักของหลักสูตร โครงสร้างเนื้อหา อัตราเวลาเรียน แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดประเมินผล คำอธิบายรายวิชา ตารางวิเคราะห์หลักสูตร จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม รายละเอียดของเนื้อหาของแต่ละหน่วยโดยละเอียด พร้อมภาพประกอบทุกขั้นตอน และบรรณานุกรมซึ่งจะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องที่จะพัฒนาอย่างจริงจัง แล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม
            3. การตรวจสอบหลักสูตรฉบับร่าง เป็นการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรและวัสดุหลักสูตร       ต่าง ๆ เพื่อนำผลมาปรับปรุงข้อบกพร่องก่อนนำหลักสูตรไปทดลองใช้ โดยจะต้องมีการกำหนดเป็นแผนอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ มีการประชุมพิจารณาร่วมกันหรือให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลักสูตร เช่น จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน คาบเวลาเรียนวิธีการวัดและประเมินผล มีความสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร
            4. การนำหลักสูตรไปทดลองใช้ มีการขออนุมัติหลักสูตร จัดทำตารางแผนการใช้หลักสูตรประชาสัมพันธ์หลักสูตร เตรียมความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ วัสดุหลักสูตร โดยการใช้หลักสูตร อาจเป็นการสอนเองหรือให้คนอื่นสอนแทน และจะต้องมีการจัดทำคู่มือการใช้หลักสูตรโดยระบุขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด
            5. การประเมินผลการนำหลักสูตรไปทดลองใช้ มีการวางแผนการประเมิน ประเมินย่อยประเมินรวบยอด ประเมินการสอนของผู้สอน ประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
            6. การปรับปรุงแก้ไข เพื่อปรับแก้หลักสูตร ได้แก่ แผนการสอน สื่อและเครื่องมือวัดผลประเมินผลให้สมบูรณ์และมีคุณภาพ
            ไทเลอร์ (Tyler. 1950 : 78) ได้กำหนดปัญหาพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรและการสอน 4 ข้อ ซึ่งมีพัฒนาหลักสูตรจะต้องตอบคำถามให้ครบเรียงลำดับข้อ 1 ถึงข้อ 4 ดังนี้
            1. จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่โรงเรียนต้องการให้ผู้เรียนบรรลุมีอะไรบ้าง
            2. การที่จะบรรลุตามจุดหมายทางการศึกษาที่กำหนดนั้น จะต้องมีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้าง
            3. ประสบการณ์ทางการศึกษาที่กำหนดนั้น สามารถจัดให้ประสิทธิภาพได้อย่างไร
            4. จะทราบได้อย่างไรว่า ผู้เรียนได้บรรลุตามจุดมุ่งหมายทางศึกษานั้น ๆ
            ทาบา (Taba. 1962 : 67) ได้เสนอแนะขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
            1. สำรวจสภาพปัญหา ความต้องการและความจำเป็นต่าง ๆ ของสังคม
            2. กำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่สังคมต้องการ
            3. คัดเลือกเนื้อหาวิชาความรู้ที่ครูจะนำมาสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ตั้งไว้
            4. จัดลำดับขั้นตอนแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาสาระที่เลือกมาได้
            5. คัดเลือกประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาเสริมเนื้อหาสาระกระบวนการเรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
            6. จัดระเบียบ จัดลำดับขั้นตอน และแก้ไขปรับปรุงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาเสริมเนื้อหาสาระการเรียน
            7. กำหนดเนื้อหาสาระอะไรบ้าง หรือประสบการณ์อย่างใดที่ต้องการประเมินว่า ได้มีการเรียนรู้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ต้องกำหนดไว้ด้วยว่าจะมีข้อมูลอะไรบ้าง ที่จะนำมาช่วยในการกำหนดเกณฑ์การประเมินผล และจะใช้วิธีการประเมินอย่างไร
กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
          การแสวงหารูปแบบในการพัฒนาหลักสูตรและการสอนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพราะ รูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรนั้น เปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่ส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น การนำรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรมาใช้จะต้องปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคมของผู้ใช้ แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรมีหลายแนวทาง
           
      สงัด อุทรานันท์ (2532 : 36-43) ได้กล่าวถึงกรบวนการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งต่อเนื่องสัมพันธ์เป็น   วัฏจักร ดังนี้
            1. จัดวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาหลักสูตร
            2. การกำหนดจุดมุ่งหมาย
            3. การคัดเลือกและจัดเนื้อหาสาระและประสบการณ์
            4. การกำหนดมาตรการวัดและประเมินผล
            5. การนำหลักสูตรไปใช้
            6. การประเมินผลการใช้หลักสูตร
            7. การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2533 : 19) ได้เสนอกระบวนการพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจรไว้ 3 ระบบโดยเริ่มต้นจากระบบการร่างหลักสูตร ระบบการนำหลักสูตรไปใช้ และระบบการประเมินหลักสูตรซึ่งแต่ละระบบมีรายละเอียดและขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ระบบการร่างหลักสูตร ประกอบด้วย การกำหนดหลักสูตร โดยดูดความสอดคล้องกับเนื้อหาวิชา สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองหลังจากนั้นกำหนดรูปแบบหลักสูตร ได้แก่ การกำหนดหลักการ โครงร้าง องค์ประกอบหลักสูตร วัตถุประสงค์ เนื้อหา ประสบการณ์การเรียนและการประเมินผลกหลังจากนั้นดำเนินการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรโดยผ่านผู้เชี่ยวชาญ หรือการสัมมนาและมีการทดลองนำร่อง พร้อมทั้งรวบรวมผลการวิจัยและปรับแก้หลักสูตรก่อนนำไปใช้
2. ระบบการใช้หลักสูตร ประกอบด้วยการขออนุมัติหลักสูตรจากหน่วยงานหรือกระทรวงดำเนินการวางแผนการใช้หลักสูตร โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์หลักสูตร การเตรียมความพร้อมของบุคลากร จัดงบประมาณและวัสดุหลักสูตร บริหารสนับสนุนจัดเตรียมอาคารสถานที่ ระบบบริหารและจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และติดตามผลการใช้หลักสูตร หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบการบริหารหลักสูตร โดยการดำเนินการตามแผน กิจกรรมการเรียนการสอนแผนการสอน คู่มือการสอน คู่มือการเรียนเตรียมความพร้อมของผู้สอน ความพร้อมของผู้เรียนและการประเมินผลการเรียน
3. ระบบการประเมินผล ซึ่งประกอบด้วยการวางแผนการประเมินผลการใช้หลักสูตร ทั้งการประเมินย่อย การประเมินระบบหลักสูตร ระบบการบริหารและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน หลังจากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานข้อมูลตามลำดับ
มณฑิชา  ชนะสิทธิ์ (2539:17) ได้กล่าวถึงกระบวนการหรือขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1.การสร้างหลักสูตร
            1.1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
            1.2 การกำหนดจุดมุ่งหมาย
            1.3 การกำหนดเนื้อหาสาระ
            1.4 การกำหนดประสบการณ์การเรียนรู้
            1.5 การกำหนดวิธีกาวัดผลและประเมินผล
2.การนำหลักสูตรไปใช้
3.การประเมินผลหลักสูตร
4.การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
เฉลา  มิสดี (2540:17-19) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรที่มีการพัฒนาแตกต่างกันเนื่องมาจากจุดเน้นที่ต่างกัน ได้แก่
1.การมุ้งเน้นการกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ตั้งแต่การศึกษากระบวนการต่างๆเพื่อเป็นพื้นฐานของการสร้างหลักสูตรและการพัฒนารูปแบบหลักสูตร
2.การมุ่งเน้นกระบวนการสอน เป็นการแบ่งหลักสูตรออกมาเป็นการกำหนดการสอน แผนการสอน คู่มือครู แบบเรียน วัสดุ และสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆเป็นบทบาทนักพัฒนาหลักสูตรในระดับห้องเรียน
3.การมุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสอนที่ต่อเนื่องกันไป เป็นภาพรวมของการพัฒนาหลักสูตรที่สามารถเรียงลำดับแนวคิดของการพัฒนาหลักสูตรและการสอนได้เต็มรูปแบบ
ธำรง  บัวศรี (2542:152) ได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
    ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
    ขั้นที่ 2 การกำหนดจุดหมายของหลักสูตร
    ขั้นที่ 3 การกำหนดรูปแบบและโครงสร้างของหลักสูตร
    ขั้นที่ 4 การกำหนดจุดประสงค์ของวิชา
    ขั้นที่ 5 การเลือกเนื้อหา
    ขั้นที่ 6 การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
    ขั้นที่ 7 การกำหนดประสบการณ์การเรียนรู้
    ขั้นที่ 8 การกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอน
    ขั้นที่ 9 การประเมินผลการเรียนรู้
    ขั้นที่ 10 การจัดทำวัสดุหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน
วิชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์ (2542 : 88) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรไว้ 7 ขั้น คือ
    1. การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
    2. การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
    3. การกำหนดเนื้อหาสาระและประสบการณ์
    4. การนำหลักสูตรไปใช้
    5. การประเมินหลักสูตร
    6. การปรับปรุง แก้ไข และเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
    7. กระบวนการพัฒนาหลักสูตร
ทาบา (Taba. 1962 : 12) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรไว้ 7 ขั้น คือ
    1.การวินิจฉัยความต้องการและความจำเป็นของสังคม
    2.การกำหนดจุดมุ่งหมาย
    3.การเลือกเนื้อหาสาระ
    4.การจัดเนื้อหาสาระ
    5.การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
    6.การจัดประสบการณ์เรียนรู้
    7.การกำหนดวิธีการประเมินผล
เซเลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander. 1974 : 27) ได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ ดังนี้
   1. การศึกษาตัวแปรต่าง ๆ จากภายนอก
   2. การกำหนดจุดมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์
   3. การออกแบบหลักสูตร
   4. การนำหลักสูตรไปใช้
   5. การประเมินผลหลักสูตร
เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวิส (Saylor Alexander and Lewis. 1981 : 30) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วย
            1. การศึกษาตัวแปรต่าง ๆ จากภายนอก ได้แก่ ภูมิหลังของนักเรียน สังคม ธรรมชาติของการเรียนรู้ แผนการศึกษาแห่งชาติ ทรัพยากร และความสะดวกสบายในการพัฒนาหลักสูตรและคำแนะนำจากผู้ประกอบอาชีพ
2. การกำหนดความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ เพื่อการออกแบบหลักสูตร โดยนักวางแผนหลักสูตร และใช้ข้อมูลทางการเมืองและสังคมเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ การออกแบบหลักสูตร
3. การนำหลักสูตรไปใช้ โดยครูเป็นพิจารณาความเหมาะสมของการสอน การวางแผนหลักสูตร รวมถึงการแนะนำแหล่งของสื่อการเรียนรู้โดยให้มีความยืดหยุ่นและมีอิสระแก่ครูและนักเรียน
4. การประเมินผลหลักสูตร ทำโดยครูเป็นผู้พิจารณาขั้นตอนประเมินผล เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียน โดยวางแผนหลักสูตรร่วมกันพิจารณาขั้นตอน การประเมินผลหลักสูตรซึ่งข้อมูลที่ได้จากการประเมินผลจะใช้เป็นพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ เพื่อวางแผนในอนาคตต่อไป

จากที่กล่าวมาแล้วสรุปได้ว่า การจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรนั้นมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติและพิจารณาที่สำคัญ คือ
            1.การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
            2.การร่างหลักสูตร
                        2.1การกำหนดจุดมุ่งหมาย
                        2.2การกำหนดเนื้อหาสาระ
                        2.3การกำหนดประสบการณ์การเรียนรู้
                        2.4การกำหนดวิธีการวัดและประเมินผล
            3.การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร
            4.การทดลองใช้หลักสูตร
            5.การประเมินหลักสูตร
            6.การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
โมเดลสปาย
          ทฤษฎีการพัฒนาสูตรของอำนาจ จันทร์แป้น (2532 : 24) ที่ผสมผสาน หรือบูรณาการองค์ประกอบที่สำคัญและสอดคล้องกัน ที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงในสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดของโรงเรียนเพื่อให้จัดการศึกษาสอดคล้องกับปัญหา และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม และความเจริญก้าวหน้าของวิชาการ เทคโนโลยี ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและความต้องการของผู้เรียนโดยแสดงออกมาเป็น โมเดลสปาย (SPIE Model)
            เพื่อให้มีความเข้าใจกระบวนการและขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรแบบ SPIE  Model จึงได้นำเสนอสาระสำคัญของแต่ละขั้นตอน ดังนี้
            1.การวิเคราะห์สถานการณ์
            การวิเคราะห์สถานการณ์ (Situation) หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์สภาพในอดีต สภาพปัจจุบันและสภาพที่ควรเป็นอนาคต โดยวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
1.1  ปรัชญาการศึกษานโยบาย หลักสูตร แผนการศึกษา งานวิจัย
1.2  สภาพปัญหา ค่านิยม วัฒนธรรมและความต้องการชุมชน
1.3  ธรรมชาติของเนื้อหาสาระ วิชาความรู้ ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ
1.4  ความรู้เกี่ยวกับผู้เรียน ในด้านความต้องการและความสนใจ
1.5  ทฤษฎีการเรียนรู้ ตลอดจนแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้

       สงัด อุทรานันท์ (2532 : 191) ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาหลักสูตรไว้ การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะสภาพปัญหาและความต้องการที่ได้จากศึกษาและวิเคราะห์เป็นข้อมูลสำคัญที่หลักสูตรจะต้องการพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและสนองความต้องการเหล่านั้น โดยแหล่งข้อมูลสามารถ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาชุมชน และข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของผู้เรียน ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลได้ทั้งทางตรงโดยการใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง การสังเกต สำหรับทางอ้อมทำได้โดยการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร การรับฟังความคิดเห็นจากแหล่งต่าง ๆ
            กรมวิชาการ (2539 : 4) ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานไว้ว่า การพัฒนาหลักสูตรที่มีเป้าหมายหรือมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้มองเห็นภาพของงาน โดยจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานซึ่งเป็นการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะเป็นกระบวนการทำงานที่มีการวิเคราะห์ตลอดแนว เป็นกระบวนการคิดที่รอบคอบ หาทางเลือกที่หลากหลายแนวทางที่มีประโยชน์สูงสุดสถานศึกษาจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น หรือ การวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ๆ ดังนี้
          1. การศึกษาแนวโน้มของการพัฒนา เป็นการศึกษาสภาพสังคมที่สถานศึกษาท้องถิ่นว่ามีแนวโน้มของการพัฒนาไปในทิศทางใด
          2. การศึกษาความต้องการของท้องถิ่น เป็นการศึกษาหรือสำรวจความต้องการของท้องถิ่นว่ามีวามต้องการจะให้ท้องถิ่นของตนเป็นอย่างไรในอนาคต วิธีการได้มาของข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของท้องถิ่นอาจใช้วิธีการทางตรง คือ การออกไปสอบถามจากบุคคลในท้องถิ่น หรือวิธีการทางอ้อมโดยการรวบรวมข้อมูลที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นจากการที่หน่วยงานหรือบุคคลอื่นทำไว้ผลจากการสำรวจนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการพัฒนา
          3. การศึกษาสิ่งที่มีผลต่อการจัดการศึกษา สิ่งที่มีบทบาทหรือมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทำให้สถานศึกษาต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามที่มีระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพของท้องถิ่น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนให้สนองหรือสอดคล้องกับท้องถิ่น
          4. การศึกษาศักยภาพของสถานศึกษา เป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของสถานศึกษาว่ามีความพร้อมในเรื่องใด มากน้อยเพียงไร รวมทั้งศึกษาว่าในการดำเนินงานทั้งด้านบริหารและวิชาการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จ
          5. สร้างภาพของงานตลอดแนว ขั้นตอนนี้เป็นการนำเอาข้อมูลซึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทั้ง 4 ขั้นตอน

2.การวางแผนหลักสูตรหรือแผนประสบการณ์ (Planning)
ในการวางแผนหลักสูตร หรือ แผนประสบการณ์มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 กำหนดหลักสูตรสาขา หมวดวิชา
2.2 กำหนดหลักสูตรรายวิชา
2.2.1 กำหนดลักษณะวิชา
            2.2.2 พิจารณาความสมดุลระหว่างทฤษฏีกับปฏิบัติ
            2.2.3 คัดเลือกและรวบรวมและผลิตสื่อประเภท
2.3 กำหนดหลักสูตรเฉพาะกลุ่มบุคคล เช่น หลักสูตรสำหรับชนกลุ่มน้อย หรือหลักสูตรสำหรับเด็กเรียนช้า เป็นต้น
2.4 กำหนดแผนการสอน
            2.4.1 กำหนดวัตถุประสงค์ รูปแบบของจุดประสงค์สามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ (อำนาจ จันทร์แป้น. 2532 : 52)
                        2.4.1.1 จุดประสงค์จะอยู่ในรูปแบบหรือลักษณะของสิ่งที่ผู้สอนกระทำ เช่น การเสนอทฤษฏีวัฒนาการ การสาธิต การพิสูจน์ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้จะแสดงให้เห็นสิ่งที่ผู้สอนวางแผนที่กระทำ แต่จุดประสงค์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายของการศึกษาที่แท้จริง เพราะ จุดประสงค์ของการที่แท้จริงไม่ใช่ต้องการให้ผู้สอนกระทำอย่างหนึ่ง แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดพฤติกรรมของผู้เรียน
                        2.4.1.2 จุดประสงค์อยู่ในลักษณะของรายการหัวข้อเนื้อหาวิชา จุดประสงค์ในลักษณะนี้ถึงแม้จะชี้ให้เห็นว่านักเรียนจะต้องเรียนอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ที่พึงประสงค์ เพราะไม่ได้ชี้เฉพาะว่านักเรียนจะต้องทำอย่างไรบ้างเนื้อหาสาระเหล่านี้
                        2.4.1.3 จุดประสงค์จะอยู่ในรูปแบบพฤติกรรมทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่ได้ชี้เฉพาะให้ชัดเจน เช่น ความคิดเชิงวิจารณ์ การพัฒนาความลึกซึ้ง การพัฒนาเจตคติต่อสังคม เป็นต้น การกำหนดจุดประสงค์ในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหวังทางการศึกษาว่าคาดหวังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ตัวผู้เรียน และแสดงให้เห็นถึงประเภทของการเปลี่ยนแปลงโดย           ทั่ว ๆ ไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชี้เฉพาะว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะกระทำกับเนื้อหาใด หรือพฤติกรรมดังกล่าวจะใช้ในด้านใดของชีวิตไม่เป็นการเพียงพอที่จะพูดอย่างผิวเผินว่าเพื่อพัฒนาความคิดวิเคราะห์โดยไม่อ้างถึงเนื้อหาและประเภทของปัญหาที่จะต้องใช้ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์เลย

วิชัย ประสิทธิ์เวชช์ (2542 : 99) กล่าวถึงการจัดเนื้อหาสาระไว้ว่า การจัดเนื้อหาสาระมีหลายวิธี แต่ละวิธีควรเหมาะสมกับธรรมชาติของวิชาที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้ การจัดหลายวิธีการผสมผสานกันตามธรรมชาติของวิชา ซึ่งสามารถสรุปได้ 3 ประการ คือ
1.จัดลำดับเนื้อหาสาระโดยยึดหลักการทางตรรกะและจิตวิทยา
            1.1เนื้อหาสาระที่จากง่ายไปหายาก (The simple-to-complex approach)
            1.2ความจำเป็นที่ต้องเรียนก่อนหลัง (The pre-requisite learning approach)
            1.3ลำดับกาลเวลาหรือเหตุการณ์ (The chronological approach)
            1.4 ตามหัวข้อหรือเป็นเรื่องอิสระ (The thematic approach)
            1.5 ลำดับจากส่วนย่อยไปสู่ส่วนร่วม (The part-to-whole approach)
            1.6 ลำดับจากส่วนย่อยไปสู่ส่วนย่อย (The whole-to-part approach)
2. จัดเนื้อหาสาระให้มีความต่อเนื่อง (Continuity) เพื่อให้เอื้อเฟื้อต่อการสะสมความรู้ให้เกิดความมั่นคงและเพียงพอสำหรับการเรียนรู้ต่อไป
3. จัดเนื้อหาสาระให้ความสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการถ่ายโยงความรู้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชา
4. จัดเตรียมรายละเอียดของการจัดเนื้อหาสาระในแต่ละรูปแบบ
5. ระบุแนวทางในการนำเอาหลักสูตรนั้น ๆ ไปสู่การปฏิบัติ
6. กำหนดวิธีการเรียนการสอนและแหล่งวิชาการ
7. กำหนดวิธีการวัดและประเมินผล

            เซย์เลอร์และอเล็กซานเลอร์ (Saylor and Alexander อ้างในสงัด อุทรานันท์. 2532 : 214) กล่าวถึงกระบวนการจัดเนื้อหาสาระและมวลประสบการณ์ โดยใช้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ดังนี้
            1. พิจารณาตัวประกอบที่สำคัญ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายหลักของหลักสูตรที่จัดทำ
            2. ระบุจุดมุ่งหมายย่อย ภายใต้จุดมุ่งหมายใหญ่แต่ละข้อ
            3. ระบุชนิดของประสบการณ์ที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะสามารถทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายหลักและจุดมุ่งหมายย่อย
            4.ในแต่ละจุดมุ่งหมายหลักนั้น ควรเลือกรูปแบบเดียวหรือมากกว่าก็ได้ ในการจัดเนื้อหาสาระในหลักสูตรอาจทำได้ในรูปแบบต่อไปนี้
                        4.1 การยึดเอาสาขาวิชาหรือรายวิชาเป็นหลัก
                        4.2 การยึดเอาความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก
                        4.3 การยึดเอากิจกรรมและปัญหาของสังคมเป็นหลัก
                        4.4 การยึดเอาทักษะกระบวนการเป็นหลัก
                        4.5 การยึดเอาสมรรถภาพเป็นหลัก
3.การใช้หลักสูตรหรือการปฏิบัติ (implementation)
ในการใช้หลักสูตร หรือ การนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องเตรียมการพัฒนาบุคลากร เอกสาร และสื่อประเภทต่าง ๆ สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในแนวทางที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ฝึกอบรมให้เกิดทักษะในการใช้หลักสูตร หรือวิธีการใหม่ ๆ สร้างหรือเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียน เตรียมการนิเทศภายใน และปฏิบัติตามแผนที่กำหนด


ในการนำหลักสูตรไปใช้นั้น วิชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์ (2542 : 104) กล่าวถึงกระบวนการนำหลักสูตรไปใช้ มีขั้นตอนไปสู่การปฏิบัติเป็นลำดับดังนี้
1.การขออนุมัติหลักสูตร
2.การวางแผนการใช้หลักสูตร อาจดำเนินการระหว่างรอการอนุมัติ เช่น การประชาสัมพันธ์ หลักสูตร เตรียมงบประมาณ เตรียมความพร้อมบุคลากร เป็นต้น
3.การบริหารหลักสูตรให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย
4.การนำหลักสูตรไปใช้
จากรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรข้างต้น สามารถได้สรุปการใช้หลักสูตรเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือการวางแผนการใช้หลักสูตรและการดำเนินการสอนตามหลักสูตร สำหรับการวางแผนการใช้หลักสูตรนั้นประกอบด้วย การประสารงานและการเตรียมบุคลากร การจัดทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เอกสารประกอบการเรียนการสอน การประชาสัมพันธ์หลักสูตร หลังจากนั้นดำเนินการสอนตามหลักสูตร
4.การประเมินผล
สำหรับ สงัด อุทรานันท์ (2532 : 279) กล่าวไว้ว่า การประเมินหลักสูตรประกอบด้วยการประเมินสิ่งต่อไปนี้ คือ
    1. การประเมินเอกสารหลักสูตร เป็นการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรว่า มีความเหมาะสมดีและถูกต้องกับหลักการพัฒนาหลักสูตรเพียงใด หากมีข้อบกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้
    2. การประเมินการใช้หลักสูตร เป็นการตรวจสอบว่าหลักสูตรนั้นสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ได้ดีเพียงใด ส่วนใดที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หลักสูตร หากพบข้อบกพร่องในระหว่างการใช้หลักสูตร มักจะได้รับการแก้ไขทันที เพื่อให้การใช้หลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
   3. การประเมินประสิทธิผลของหลักสูตร โดยทั่วไปจะดำเนินการหลังจากที่มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนั้น ๆ การประเมินในลักษณะนี้มักจะทำการติดตามความก้าวหน้าของผู้สำเร็จการศึกษาว่าสามารถประสบความสำเร็จในการทำงานเพียงใด
    4. การประเมินระบบหลักสูตร เป็นการประเมินในลักษณะที่มีความสมบูรณ์และซับซ้อนมาก คือ การประเมินที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่นของหลักสูตร เช่น ทรัพยากรที่ต้องใช้ ความสัมพันธ์ของระบบหลักสูตรกับการบริหารโรงเรียน ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบการวัดและประเมินผล เป็นต้น

นอกจากนี้ วิชัย ดิสสระ (2535 : 116) กล่าวถึงกาประเมินหลักสูตรไว้ว่า การคำนึงถึงช่วงเวลาในการประเมินผลหลักสูตร ทำให้ได้ลักษณะของการประเมินผล 3 ลักษณะ คือ
  1. การประเมินผลก่อนการดำเนินงาน (project analysis) หมายถึง การประเมินหลักสูตรในช่วงที่หลักสูตรยังไม่นำไปใช้ในโรงเรียน เป็นการประเมินหลังจากได้วางแผนการพัฒนาหลักสูตรแล้วโดยอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาวิชา
  2. การประเมินขณะดำเนินการ (formative evaluation) หมายถึง การประเมินผลหลักสูตรในช่วงที่ได้จากการวางแผนพัฒนาไปใช้ในโรงเรียนต้องยึดหลักการและเหตุผลในขั้นวางแผนเป็นหลักแล้วพิจารณาดูว่าหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่ปฏิบัติอยู่นั้นเป็นอย่างไรเป้าหมายของการประเมินผลขณะดำเนินการนี้มุ่งที่จะช่วยให้นักพัฒนาหลักสูตรสามารถพิจารณาวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน ที่นำไปใช้ให้สมเหตุสมผลกับหลักการและเหตุผลในขณะวางแผนหลักสูตรเป็นสำคัญ
  3. การประเมินหลังดำเนินการ (summative evaluation) หมายถึง การประเมินผลหลักสูตรในช่วงที่หลักสูตรได้นำไปใช้แล้วหรือประเมินผลจบของโครงการหลักสูตรนั้น ๆ การประเมินผลหลักสูตรช่วงจบนี้ต้องวิเคราะห์หาผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอน การวิเคราะห์หาประสิทธิภาพของการวางแผนพัฒนาหลักสูตร กระบวนนำหลักสูตรไปใช้ กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนและผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอน อาจใช้แบบสอบถามชนิดต่าง ๆ เป็นเครื่องมือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนของนักเรียน ความคิดเห็นของนักเรียน ครู ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรทั้งทางตรงและทางอ้อม

    สรุป

การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นหรือสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและสนองต่อความต้องการของผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ เป็นการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะกว้าง ๆ โดยยึดถือแผนการศึกษาของชาติ เพื่อให้ผู้ใช้ในระดับต่าง ๆ นำไปขยายหรือปรับเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร สำหรับการพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น หมายถึง ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา จะเป็นการนำหลักสูตรระดับชาติมาปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระให้มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น ส่วนการพัฒนาหลักสูตรระดับชั้นเรียนเป็นการพัฒนาหลักสูตรโดยสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นการขยายและปรับให้มีความสอดคล้องในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยการพัฒนาระดับหลักสูตรชั้นเรียน เป็นการพัฒนาที่เน้นความต้องการและความถนัด ความสนใจของผู้เรียน ซึ่งเป็นการปรับจุดประสงค์ เนื้อหาวิชา และกิจกรรมการเรียนการสอนโดยครูผู้เรียน จากแนวคิดของนักศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาสูตรพบว่า เป็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบเป็นวงจรเชื่อมโยงกันในมิติต่าง ๆ นักพัฒนาหลักสูตรดำเนินการให้มิติต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
การจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรนั้น มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติและพิจารณาที่สำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายเบื้องต้อนของหลักสูตรที่จัดทำนั้นให้ชัดเจนว่าเป้าหมายเพื่ออะไร ทั้งโดยส่วนรวมและส่วนย่อยของหลักสูตร หลังจากนั้นจึงเลือกเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการประเมินผล และกำหนด รูปแบบการนำหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การพัฒนาหลักสูตรดำเนินไปอย่างครบถ้วนและเกิดผลดี นั่น คือ ได้กลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรแบบ SPIE Model เป็นการผสมผสาน บูรณาการองค์ประกอบที่สำคัญและสอดคล้องกัน เมื่อนำไปปฏิบัติจริงในสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดของโรงเรียนโดยพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษานั้น จะทำให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงสังคม ความเจริญก้าวหน้าวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนสอดคล้องความต้องการของชุมชนและความต้องการของผู้เรียนด้วย

1 ความคิดเห็น: